"ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน" จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ทำสืบทอดมาเกือบ 80 ปี
เมื่อปี พ.ศ. 2480 นายโพธิ์ นิลล้อม ชาวบ้านห้วยทับทัน เล็งเห็นว่า ที่สถานีรถไฟห้วยทับทันมีคนสัญจรผ่านไปมาไม่น้อย คนจากกรุงเทพฯ จะกลับอุบลราชธานีต้องผ่านที่นี่ คนจากอุบลราชธานีจะไปบุรีรัมย์หรือเข้ากรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านห้วยทับทัน คนพื้นที่จะไปธุระ ต้องมารอรถไฟนานนายโพธิ์ต้องการหารายได้จากการค้าขาย จึงไปจับไก่ในเล้าของตนเองมาแปรรูปเสียบไม้ย่างขาย ไม้ที่เสียบ นายโพธิ์ไปตัดไม้มะดันป่า ที่ขึ้นอยู่ริมห้วยทับทันมาเสียบไก่ ส่วนเชื้อเพลิงสำหรับย่างไก่ นายโพธิ์ไม่ต้องไปหาให้ยาก แต่ได้จากเศษเหลือของฟืนและเปลือกไม้ ที่ใช้กับรถไฟ มาก่อย่างไก่ เพราะไก่ย่างขายได้ นายโพธิ์ต้องไปหาซื้อไก่จากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเดียวกันมาย่างขาย นานเข้าต้องไปหาซื้อข้ามหมู่บ้านกันเลยทีเดียว
ไก่ย่างราคาไม้ละ 10 สตางค์ ขายคู่กับข้าวเหนียว 5 สตางค์ นานวันเข้า แทนที่นายโพธิ์จะขายไก่ย่างคนเดียว ก็มีคนอื่นๆ ตามอย่าง แต่วัตถุดิบยังคงเป็นไก่บ้านที่เลี้ยงเอง รวมทั้งใช้ไม้มะดันเสียบย่าง ส่วนเครื่องปรุงก็ปรับแต่งกันจนได้ที่ ทำให้รสชาติถูกปากผู้ซื้อ ระยะหลัง เมื่อมีใครผ่านห้วยทับทัน มักจะมีคนวานให้ซื้อไก่ย่างมาให้กินด้วย
งานขายไก่ย่าง นอกจากจะขายให้คนห้วยทับทันที่รอขึ้นรถไฟแล้ว ผู้มีอาชีพขายไก่ย่าง อาจจะเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้า จะถือโอกาสขึ้นไปขายบนรถไฟ โดยขายไปตามทางถึงอุบลราชธานี หรือไปถึงสุรินทร์ และโคราช
สาเหตุที่นายโพธิ์นำไม้มะดันมาเสียบไก่ย่าง อาจจะเป็นเพราะคนแถวนั้นคุ้นเคยกับไม้มะดันป่าเป็นอย่างดี เมื่อลงห้วยหาปลา เที่ยงๆ ก่อไฟ ได้ปลามาก็ตัดไม้มะดันมาเสียบปากปลาทะลุหาง นำไปย่างไฟ กินร้อนๆ กับข้าวเหนียวและแจ่วปลาร้า ไม้มะดันจึงถูกนำมาใช้กับการย่างไก่ แรก ๆ มีการเหลาไม้เสียบไก่ หลังๆ ดัดแปลงมาเป็นไม้หนีบ ทางอีสานเรียกไม้ปิ้ง
https://huaithapthan.go.th/info-service/travel/item/860-keangjukarn#sigProGalleriae878dac997
แสดงความคิดเห็น
***กรุณาแสดงความคิดเห็น ด้วยความสุภาพ เคารพต่อสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีของสังคม